รีวิวทริปโตเกียวต้นตุลาฯ 2018 EP 1: วางแผนและศึกษาเส้นทางรถไฟ

มาต่อกับบล็อกที่ 2 แต่ขอนับเป็น Episode 1 เพราะเพิ่งจะเข้าเรื่องจริงจัง โดยในบล็อกนี้จะมาพูดถึงการวางแผนเที่ยว ทั้งในโซนโตเกียวที่ผมปักหลักอยู่หลายวัน และนอกโซน ที่ไปเดินเล่นละแวก Kawaguchiko กับทาง Nikko มานั่นเอง

โซนโตเกียว

ปกติเวลาพูดถึงการเดินทางในโตเกียว หลายคนก็น่าจะรู้กันอยู่ว่า ก็ขึ้นรถไฟฟ้าไปสิ เชื่อมหมดทุกที่แล้วก็ว่าได้ ไปมุมไหน แลนด์มาร์กไหน ก็รถไฟฟ้าไปได้หมด

ใช่ครับ เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่มันมีเงื่อนไขอีกหน่อยก็คือ รถไฟฟ้าในญี่ปุ่นมีผู้ให้บริการหลายเจ้า ยกตัวอย่างนิดหน่อยก็เช่น JR, Tokyo Metro, Tokyu, Keisei, Toei อันนี้เฉพาะในโซนละแวกโตเกียวก่อน ภูมิภาคอื่นนี่ผมยังไม่ค่อยรู้เหมือนกัน

การที่มีผู้ให้บริการหลายเจ้านั้นน่าสนใจอย่างไร เอาจริงๆ แล้วจะเจ้าไหนในโซนนี้เราก็เอาบัตรเติมเงิน (IC Card) แตะเข้าได้หมดครับ จะ SUICA หรือ PASSMO ก็ได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่น่าหยิบมาพิจารณาก็คือ ตั๋วเหมานั่นเอง เพราะแต่ละเจ้าไม่ได้ออกตั๋วเหมารายวันมาใช้ร่วมกัน กลุ่ม JR ก็มีของตัวเอง กลุ่ม Tokyo Metro ก็มีของตัวเอง จุดนี้แหละครับที่ผมหยิบมาเป็นปัจจัยในการวางแผนเที่ยวและการเลือกสายรถไฟฟ้า

สำหรับการเดินทางภายในเมืองนั้นผมเลือก Tokyo Metro Pass ทำเสียงเหมือนโฆษณา แต่ไม่ได้ค่าโฆษณา หรือใครอยากให้คนเขียนได้ค่าขนมก็กดสมัคร Klook ผ่านช่องทางนี้โลดครับ มันคือลิงค์ Referral นั่นแหละ บอกกันตรงๆ คนสมัครได้ 100 บาท ถ้าซื้อของเสร็จทางผมจะได้ 100 บาท

เคยได้ยินว่าเมื่อก่อน Tokyo Metro มันยังไม่ครอบคลุมโตเกียวเท่าไร แต่ปัจจุบันนั้นจัดว่าไปสถานที่หลักๆ โดยไม่ต้องพึ่ง JR แล้วก็ยังได้ครับ จากการไล่กดดูเส้นทางต่างๆ ทำให้ตัดสินใจไปเอาตั๋วเหมาของ Tokyo Metro มาใช้ โดยจริงๆ แล้วเป็นการเหมาจำนวนชั่วโมง มีตั้งแต่ 24, 48 และ 72 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น ถ้าเริ่มใช้งานตั๋ว 24 ชั่วโมงวันแรกตอน 9 โมง มันก็จะหมดอายุตอน 9 โมงของวันถัดไป

Tokyo Metro Pass นั้นสามารถใช้ได้กับเส้นทางภายใต้การบริการของ Tokyo Metro และรวมของ Toei อีกด้วย ทำให้เดินทางได้ค่อนข้างกว้างทีเดียว มีข้อสังเกตในการดูสายรถไฟมาฝากนิดหน่อยดังนี้ครับ

  • Tokyo Metro สัญลักษณ์เป็นตัว M โค้งๆ
  • Toei สัญลักษณ์เป็นรูปใบพัดสีแดงพื้นหลังขาว
  • ทั้ง 2 สายจะใช้ตัวย่อเส้นทางเป็นตัวอักษรตัวเดียว เช่น Asakusa Line -> A

สถานที่ที่ผมวางแผนไปในโซนโตเกียวและครอบคลุมอยู่ในเส้นทาง Tokyo Metro มีดังนี้

  • Asakusa Line: สถานี Asakusa, Oshiage (ที่พัก)
  • Ginza Line: สถานี Ueno, Asakusa, Ginza, Shibuya
  • Hibiya Line: สถานี Ueno, Akihabara, Tsukiji, Ginza, Hibiya,
  • Marunouchi Line: สถานี Ginza, Tokyo, Ikebukuro, Shinjuku
  • Fukutoshin Line: สถานี Shibuya, Meiji-jingu Mae (Harajuku), Ikebukuro

จะเห็นว่าเพียงแค่นี้ก็วนรอบจุดสำคัญในโตเกียวได้แล้ว พอจะสู้เทียบเคียงกับ JR Yamanote Line ที่วิ่งเป็นวงกลมได้เลย

ต่อมาจะพูดถึงสถานีที่เข้าถึงไม่ได้บ้างดีกว่า ...เอาจริงๆ น้อยเพราะไม่ได้วางแผนให้หลุดนอกเส้นทางเท่าไร แต่ที่ควรพูดถึงแน่ๆ ก็คือ

  1. Odaiba โซนนี้บัตร Tokyo Metro จะเข้าถึงได้แค่สถานี Toyosu, Tatsumu และ Shin-kiba เท่านั้นครับ หากอยากได้ตั๋วเหมาะในโซนนั้นต้องอาศัยตั๋วของสาย Yurikamome โลโก้เป็นนกนางนวล สำหรับนั่งบริเวณโอไดบะที่เป็นรถไฟฟ้าอัตโนมัติ
  2. รอบนอกโตเกียว มีวันนึงไปสถานี Akabane เพื่อไปดูดอกไม้ไฟ ตอนนั้นจำเป็นต้องแตะ SUICA ขึ้นสาย JR ไป

แต่เอาจริงๆ ถ้าเผลอไปลงจุดไหนแล้วจิ้ม Google Maps แล้วนั่ง JR ประหยัดเวลากว่าเยอะ ก็แตะบัตรนั่งเถอะครับ ฮ่าๆ

โซน Kawaguchiko

รถบัสลายโทมัส

มาเริ่มกันที่เส้นทางไป Kawaguchiko เลยแล้วกัน ผมก็เลือกเส้นทางเหมือนที่หลายๆ คนทำนี่แหละ จะนั่งรถไฟไปก็ทำเวลาไม่ค่อยดี ก็นั่งรถบัสจากชินจูกุนี่แหละครับ รถที่นั่งเป็นบัสของ Keio ที่ขับขึ้นทางด้วนลุยไปยาวๆ

แต่ช้าก่อน! ถ้าคุณอยากจะไปดูเจดีย์ชูเรโท (Chureitou Pagoda) คุณต้องลงกลางทาง อย่าเผลอนั่งยาวล่ะ ไม่งั้นรู้ตัวอีกทีไปถึง Kawaguchiko ไม่ก็ Fuji-Q Highland เลยนะ โดยสถานีที่ต้องลงเพื่อไปดูเจดีย์นั้นต้องลงที่ป้าย Chuo Shimoyoshida แล้วลงจากทางด่วนเดินไปต่อ ค่าใช้จ่ายตรงนี้อยู่ที่ 1700 เยนครับ ต้องซื้อตั๋วที่สถานีรสบัสหรือจะจองก่อนผ่านเว็บก็ทำได้เช่นกัน

แล้วจากบริเวณนั้น ถ้าจะไป Kawaguchiko ก็ต้องอาศัยรถไฟท้องถิ่นตรงนั้นไปต่อ สายรถไฟตรงนั้นจะเรียกว่า Fujikyu Railway นั่งไม่นานเท่าไร ประมาณ 8 นาทีเท่านั้น แต่ที่อาจจะนานก็คือจังหวะที่รอรถไฟมานี่แหละครับ ด้วยความที่มันเป็นโซนนอกเมืองรถไฟเลยไม่ได้ถี่นัก สามารถตรวจสอบตารางเวลาได้ที่นี่เลย สังเกตว่าต้องเป็นเส้น For Kawaguchiko นะครับ แตะบัตร IC ทั้งหลายไปได้เลย ประมาณ 300 เยนเท่านั้น

ในภาพคือรางรถไฟกับตัวสถานี จุดถ่ายคือข้ามมาฝั่งชานชลาแล้ว
ถ้าฟ้าใสๆ เห็นฟูจิจากรถไฟได้ด้วย

ส่วนสำหรับการเดินทางกลับนั้นผมก็ใช้บริการรถบัสเช่นเดิม โดยที่สถานีรถไฟ Kawakuchiko นั้นจะจะมีตู้ขายตั๋วรถบัสอยู่ให้บริการ กดซื้อกับตู้เลือกเวลาเองได้เลย แต่ตอนขึ้นรถต้องดูดีหน่อยนะครับ เพราะรถจะเยอะมาก บางทีก็งงๆ คันว่าต้องขึ้นคันไหน ถ้ามีหลายวันมาเวลาไล่เลี่ยกันกับรอบของเรา ต้องลองยื่นบัตรให้พนักงานดูว่าใช้หรือเปล่า บางทีก็แอบมีจังหวะรถบัสมาช้าเหมือนกัน แต่ถ้าได้ขึ้นแล้วก็สบายแล้วครับ นั่งพักผ่อนกันยาวๆ จนถึงชินจูกุได้เลย

ถ้าฟ้าโปร่ง บนบัสก็เห็นฟูจิสบายๆ

โซน Nikko

อันนี้รถเที่ยวขากลับจอดรออยู่

มาถึงการวางแผนของนิกโก้บ้าง ผมมองว่าเป็นเส้นทางที่ใช้เวลาคิดเยอะที่สุด เพราะตอนแรกวางแผนว่าการพักที่ Oshiage คือข้อได้เปรียบที่เราจะขึ้นรถไฟสาย Tobu จากใกล้ๆ ที่พักไปตั้งแต่เช้ามืดได้เลย นั่งแบบรถธรรมดานี่แหละประหยัดดี

ตารางรถเจ้าปัญหา

แต่หลังจากตามอ่านรีวิวก็พบความปวดหัว และความไม่ครบถ้วนของข้อมูล มีทั้งบอกว่าพอไปถึงสถานีนึง ขบวนจะแยกออกแล้วเส้นนึงจะไปอีกทาง ถ้าไปนิกโก้ต้องอยู่ให้ถูกตู้ แล้วข้อมูลตารางเวลาของรถในรีวิวก็ไม่ตรงกับปัจจุบันด้วย เลยงงเสริมกันเข้าไปอีก พอไปลองดูใน Google Maps ก็มีความลำบากที่รถไฟท้องถิ่นมันไม่ได้มาถี่ต่อเนื่อง ถ้าไปเองก็เกรงว่าจะเสียเวลาเพราะรถไฟนี่แหละ รวมถึงขากลับด้วยที่เสี่ยงไม่มีรถไฟกลับ

ชานขลา Tobu Skytree ที่รอรถตอนเช้า

สุดท้ายยอมแพ้ ไหนๆ ก็ใช้ Nikko All Area Pass อยู่แล้วก็ใช้ส่วนลดอัพเกรดสายรถไฟไปเป็นสายริวาตี Rivaty ซะเลย เป็นรถที่วิ่งตรงแบบไม่ต้องห่วงเปลี่ยนรถ (มันมีย่อยอีกด้วย เข้าใจว่าที่ไปมาคือ Rivaty Kegon) แม้ว่าต้นสายมันจะออกมาจาก Asakusa แต่ก็ยังจอดรับคนที่ Tobu Skytree ด้วยครับ (เดินจาก Oshiage มานิดเดียว) พวกผมก็เลยเลือกขึ้นที่ Tobu Skytree นั่นเอง

เอาหน้ารถมาฝากเล็กน้อย

ในส่วนของราคานั้น ขออิงจากหน้าเว็บปัจจุบันแล้วกัน น่าจะเท่าเดิมอยู่ เฉพาะ Nikko All Area Pass ตัวนี้ก็อยู่ที่ 4,520 เยน (ราว 1,300 บาท) + ตั๋วไปกลับรถ Rivaty 2,320 เยน (650 บาท) เบ็ดเสร็คือราวๆ 2 พันบาทนั่นเอง แต่ส่วนที่แพงก็เพราะว่าจริงๆ แล้ว All Area Pass มันมีอายุใช้ได้ถึง 4 วันครับ ผมดันทะลึ่งไปเช้าเย็นกลับเลยเสียแพงหน่อย แล้วมันก็รวมค่าขึ้นกระเช้า Akechidaira Ropeway และค่าบัสทุกสายในโซนนิกโก้ไปแล้วด้วยครับ นั่งบัสได้ชิวๆ ไม่ต้องจ่ายเพิ่มเลย

ทั้งหมดนี้เป็นอันว่าจบเนื้อการวางแผนเดินทางเรียบร้อยสำหรับบล็อกนี้ครับ ไว้บล็อกหน้าจะมาเริ่มเข้าสู่รีวิวความเป็นไปในแต่ละวันจริงๆ ซะที