Eizouken: ไอเดียคือจินตนาการ ผลงานคือโลกจริง

Eizouken หรือชื่อเต็มๆ คือ Eizouken ni wa Te wo Dasu na! (映像研には手を出すな!/Keep Your Hands Off Eizouken!) เป็นอนิเมมาแรงประจำรอบฉายฤดูหนาว 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งผมเองก็เคยออกปากชมไปแล้วแหละ แต่คราวนี้หลังจากที่ติดตามมาจนจบก็เลยอยากจะเก็บตกประเด็นจากเนื้องเรื่องออกมาพูดถึงสักหน่อย

Eizouken ในที่นี้คือชื่อของชมรมในเรื่อง เป็นชมรมวิจัยหนัง แต่แท้จริงแล้วคือชมรมที่ทำอนิเมชัน ที่ต้องหลบมาใช้ชื่อนี้ก็เพราะมีชมรมวิจัยอนิเมชันแล้ว แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการผลิต ชมรมเกิดขึ้นจากเหล่าตัวละครหลัก 3 คนในเรื่องคือ Asakusa Midori, Kanamori Sayaka และ Mizusaki Tsubame ร่วมกันสร้างขึ้นมา ด้วยแรงบันดาลใจที่จะสร้างผลงานอนิเมชันของตัวเอง (และหาเงิน)

ซ้ายไปขวา: Kanamori, Asakusa, Mizusaki

Asakusa Midori ที่อาจะเรียกว่าเป็นตัวเอกของเรื่อง เป็นคนที่ไอเดียบรรเจิด ชอบขีดเขียนวาดรูปแต่เด็ก จนมองอะไรต่างๆ ในเมืองก็เป็นไอเดียใหม่ๆ มาเขียนสเก็ตช์ไว้ได้ มีภาพเขียนและคอนเซปท์ของตัวเองเก็บไว้เพียบ แต่ตัวเองขาดทักษะในการพูดคุยกับคนแปลกหน้าและไม่มีทักษะด้านการต่อรอง

Kanamori Sayaka คนที่ไม่ได้มีทักษะด้านศิลปะเลยแม้แต่น้อย แต่มีประสบการณ์ด้านการเงิน และมองหาช่องทางการทำธุรกิจ มีคติคือการที่จะทำอะไรสักอย่าง ควรจะได้ประโยชน์จากมันไม่ให้สูญเปล่า และมองโลกในความเป็นจริงสุดๆ

Mizusaki Tsubame นักแสดงวัยรุ่นที่มีชื่อเสียงระดับหนึ่ง ที่หลงใหลในอิริยาบถของคน การแสดงท่าทาง การเคลื่อนไหว จนเก็บมาวาดเป็นเฟรม จนกลายเป็นทักษะด้านการเขียนอนิเมชันตัวละครที่เหนือชั้น

แน่นอนว่าพอเป็น 3 คนนี้มารวมหัวกัน ก็เลยเกิดเป็นทีมที่น่าสนใจมาก แต่ในเนื้อเรื่องก็พร้อมจะมีอุปสรรคต่างๆ มาสร้างความระทึก ตื่นเต้น และดึงดูดผู้ชมในติดตามตัวเนื้อเรื่อง แต่นั้นคือเรื่องหนึ่งที่จะไม่ได้หยิบมาพูดในบล็อกนี้ สิ่งที่บล็อกนี้จะพูดถึงคือ "ไอเดีย" และ "ผลงาน"

ไอเดีย

Asakusa และ Mizusaki นั้นเป็นศิลปินที่ยอดเยี่ยม สามารถคิดคอนเซปท์และมองภาพต่างๆ มาเป็นร่างผลงานได้อยู่ตลอดเวลา จากในเรื่องก็จะเห็นว่าทั้งสองคนสามารถต่อยอดไอเดียกันและกันได้อย่างดี นี่คือทักษะของศิลปิน หรือคนสายงานอาชีพที่มีทักษะเฉพาะทางและดำดิ่งเข้ามาในวงการลึกพอดีจะมองสิ่งต่างๆ เป็นกลไกหรือระบบของงานตัวเองได้

Mizusaki ที่ติดขัดกับการวาดท่า จึงต้องมาทดลองทำเอง

แน่นอนว่าคนสายงานนี้มักจะชื่นชอบที่จะทดลอง ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ไม่ว่าจะต้องเหน็ดเหนื่อยยังไงก็อยากทำออกมาให้มันสำเร็จ เพราะเป็นการทำในสิ่งที่มาจากแรงผลักดันในตัวเอง ให้มันเกิดเป็นผลงานขึ้นมา แต่คนกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาในบางเรื่อง ซึ่งสิ่งที่ Eizouken นำเสนออกมาก็เป็นกลุ่มปัญหาเดียวกันกับที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วไป นั่นก็คือ เป็น Perfectionist และขาดทักษะในการเจรจากับคนนอก

ผลงาน

ในโลกของธุรกิจ ไม่มีใครมีเวลามากพอที่จะรอผลงานให้สำเร็จแบบ 100% หรือบางคนก็อาจจะมองว่าไม่มีงานไหนที่สมบูรณ์หรอก Eizouken นั้นวางตัวละครได้เข้าทางกับโลกความเป็นจริงระดับหนึ่ง เพราะการที่ให้ 1 ใน 3 คนของชมรมเป็นคนที่มองภาพธุรกิจได้ วิเคราะห์ทรัพยากรที่มีกับผลงานที่จะได้รับ ทั้งยังวางแผนงานและเจรจากับคนอื่นได้นั้น คือบุคคลที่จะวางระเบียบให้เหล่าศิลปินส่งผลงานได้จริง ตัวละครที่ว่าก็คือ Kanamori

Kanamori ที่ช่วยงานด้านอื่นๆ และปล่อยงานหลักเป็นหน้าที่ของคนที่ชำนาญ

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า Kanamori ไม่มีทักษะด้านศิลปะเลย แต่ด้วยความที่รู้จักกับกับ Asakusa มานานทำให้ทั้ง 2 คนสามารพูดคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา ทำให้เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมความรู้ความสามารถของ Asakusa ออกไปยังคนอื่นๆ รวมถึง Mizusaki ด้วย เพราะเหตุนี้ทำให้ทั้ง 3 คนจับกลุ่มกันขึ้นมาได้

Kanamori นั้นเป็นเหมือน Project Manager ในชมรมที่เจรจางานกับผู้ว่าจ้าง ทำความเข้าใจกับทีมและความสามารถของทีม นำเสนอทางเลือกหรือตัวช่วยให้กับทีม แม้ว่าจะขัดกับภาพจินตนาการในหัวของเหล่าศิลปิน และนี่คือสิ่งมันสมจริงมากๆ และตัวละครขอเรื่องก็เติบโตได้ดี ด้วยทักษะการเจรจา และการลดทิฐิของผู้สร้างผลงาน ทำให้เกิดเส้นทางตรงกลางของทั้ง 2 ฝ่ายได้ เพื่อที่จะทำให้งานสำเร็จทันเวลากำหนด

เชื่อว่าถ้าผู้อ่านหลายๆ คนไปหยิบ Eizouken มานั่งดู ก็น่าจะพบความ "อิน" ระดับหนึ่งในฐานะคนทำงาน และอย่างตัวผมเองที่เป็นสายงาน Software Developer ที่จะเห็นตำแหน่งของคนหลากหลาย ตั้งแต่ลูกค้าที่อยากได้งาน คนเจรจา แล้วนำมาทำความเข้าใจกับทีม รวมถึงการฝึกให้เกิดทักษะในการต่อรองของแต่ละบุคคล สร้างพัฒนาการเชิงอารมณ์ มองแต่ละอย่างในมุมของทรัพยากรและการบริหาร ลดอีโก้ในฐานะผู้สร้าง ล้วนแต่เป็นทักษะที่คนทำงานพึงมี และเรื่องนี้สามารถนำเสนออกมาได้ด้วยความไหลลื่นและสนุกสนานได้

ปิดท้ายบล็อกด้วยคำชื่นชม Eizouken อีกรอบ เพราะนอกจากแก่นเรื่องจะมีสาระน่าติดตามแล้ว ต้องกล่าวถึงผลงานด้านภาพ อนิเมชันอีกด้วย ที่ทำออกมาได้ดีมากๆ นำเสนอภาพในหัวของเหล่าศิลปินออกมาเป็นภาพเปรียบเทียบเหมือนเราไปอยู่ในหัวของพวกเค้าเหล่านั้น และหลายๆ อย่างพวกเราเองก็น่าจะเชื่อมโยงได้ มันเหมือนการโลดแล่นไปกับความไอเดียที่แล่นในวัยเด็ก และถูกนำมาสร้างเป็นผลงานที่คนอื่นสามารถรับชมได้ มันดูเป็นสิ่งที่น่าอิ่มเอมใจมากๆ เลยทีเดียว แม้ว่าแต่ละตอนในเรื่องจะเปิดเผยบางส่วนของผลงานไปบ้างแล้ว แต่ท้ายสุดผลงานที่สำเร็จออกมาก็ยังสร้างความประทับใจให้ผู้ชมและผู้สร้างเสมอ และผมอยากจะบอกทุกคนว่า

Eizouken คืออนิเมชันที่ทำให้เราหวนคิดถึงความยอดเยี่ยมของอนิเมชัน

Eizouken มีฉายใน Crunchyroll นะครับ